รู้จักวัฒนธรรมการทิ้งขยะในญี่ปุ่น แล้วจะทึ่งกับนิสัยความมีวินัย

ถ้าสังเกตให้ดีที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีถังขยะให้เห็นทั่วไป  เพราะในญี่ปุ่นนั้นการแยกขยะ เป็นสิ่งที่มีการยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะไม่มีการทิ้งขยะลงในถังขยะก่อนที่จะจัดการแยกขยะ  แน่นอนว่ามีการออกเป็นกฎระเบียบ มีการระบุโทษหากไม่ปฏิบัติตาม แต่มากกว่าการมาตรการบังคับ สิ่งที่ทำให้การจัดการขยะในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาจากการยึดถือปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมด้วยพื้นฐานของความมีวินัย

ที่ญี่ปุ่นนั้นการแยกขยะ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการขยะ จึงแยกขยะประเภทต่างๆ ดังนี้

ขยะเผาได้(burnable garbage/ combustible) คือ ขยะจากในครัว (ขยะเศษอาหาร) และขยะเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ในชีวิตประจำวัน ต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป คือ ต้องบรรจุลงได้ในถุงพลาสติกเนื้อหนา ขนาด 2 ลิตร หรือ 3 ลิตร ซึ่งเป็นถุงขยะมาตรฐานที่รัฐหรือเทศบาลญี่ปุ่นกำหนดใช้ทั่วประเทศ

ขยะเผาไม่ได้(unburnable garbage/incombustible) ก็คือ พวกขวดแก้ว ภาชนะแก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม กระป๋องบรรจุอาหาร ขวดพลาสติกทั้งชนิดบาง และพลาสติกหนา ของใช้ที่ทำจากยาง เครื่องหนัง

ขยะประเภทที่สาม คือ ขยะขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเรือน ที่นอนหมอนมุ้ง ไปจนถึงรถจักรยาน จักรเย็บผ้า

ขยะมีพิษหรือขยะอันตราย เช่น พวกภาชนะบรรจุสารเคมีที่เป็นพิษ ขยะติดเชื้อ (ขยะโรงพยาบาล) กระป๋องที่มีหัวฉีดแบบสเปรย์ ซึ่งอาจระเบิดได้ ของมีคม เช่น มีด เศษแก้ว

ขยะที่ต้องแจ้งหน่วยงานพิเศษของรัฐหรือเทศบาลให้มาเก็บ หรือนำไปส่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ เช่น คอมพิวเตอร์และวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีขนาดใหญ่ รถจักรยานยนต์ และซากสัตว์ ฯลฯ

นอกจากมีการแยกขยะอย่างชัดเจนแล้วยังมีการกำหนดวันเวลาที่รถเก็บขยะจะมารับขยะแต่ละประเภทไปกำจัดด้วย  โดยจะกำหนดไว้แน่นอนชัดเจนและตายตัว ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของแต่ละพื้นที่สำหรับคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่จะได้รับแจกตะกร้าพลาสติกสองใบ สีเขียวและฟ้า และคูปองขนาดโปสการ์ดหนึ่งใบ สำหรับไปแลกถุงขยะฟรีจากร้านค้าในบริเวณที่พักอาศัยของแต่ละบ้าน โปสการ์ดหนึ่งใบ แลกถุงขยะได้ 104 ถุง ถ้าบ้านไหนมีขยะมาก ก็ต้องหาซื้อถุงขยะมาเพิ่มเอง  รถเก็บขยะในพื้นที่แต่ละพื้นที่จะมาเก็บตามวันตามเวลา ไม่มีล่าช้า ไม่มีวันหยุดพักผ่อนใดๆ ทั้งสิ้น

ที่ญี่ปุ่นยังมี กิจกรรมเก็บขยะประเภท สิ่งที่เจ้าของไม่ต้องการ จำพวกของเก่าที่คุณภาพดี เช่น เครื่องไฟฟ้าขนาดย่อม ประเภท เตาปิ้งขนมปัง วิทยุ เครื่องเสียงขนาดเล็ก พัดลม หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส รวมทั้งเครื่องเรือน อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ ชั้นวางของ วางหนังสือ  ในวันพฤหัสบดีที่สองและที่สี่ของเดือน จะเป็นวันเก็บขยะใหญ่ (incombustible) และขยะเผาไม่ได้ (unburnable)  เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องเรือนที่ยังมีสภาพดีหรือค่อนข้างดี จะวางทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนวันเก็บขยะใหญ่ประจำฤดู สักสองสามวัน และคนที่อยากจะได้ของใช้ จะมาเลือกขนเอาไปใช้ได้

หลักการในการแยกขยะและการสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะ ประสบความสำเร็จมากในญี่ปุ่น  แม้ว่าการทิ้งขยะที่ญี่ปุ่นนั้นจะมีความซับซ้อนและระเบียบมากมายก็ตามแต่คนญี่ปุ่นต่างมองว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน