สวีเดนกับการจัดการขยะครบวงจรที่แสนจะน่าทึ่ง

สวีเดนกับการจัดการขยะครบวงจรที่แสนจะน่าทึ่ง

เราอาจเข้าใจกันว่าการทิ้งขยะลงในถังขยะคือวิธีการจัดการขยะที่เบ็ดเสร็จแล้ว จริงๆแล้วการจัดการขยะต้องเริ่มก่อนที่จะนำขยะมาทิ้งในถังขยะหรือถุงขยะ ในต่างประเทศที่มีการจัดการขยะอย่างได้ผลนั้นมีมาตรการหลากหลายที่น่าสนใจ ทำให้ลดปัญหาขยะล้นเมืองลงไปได้ มีหลากหลายวิธีการที่เราอาจเอามาปรับใช้กับประเทศไทยหรือแม้แต่ในครัวเรือนของเรา มาดูกันเลย

ประเทศที่มีการจัดการขยะอย่างครบวงจร  คือ   สวีเดน  เริ่มจากบวกราคาค่ามัดจำของบรรจุภัณฑ์ลงไปในเครื่องดื่ม เมื่อนำขวดที่ใช้แล้วกลับมาใส่ตู้รับ ก็จะได้เงินตามจำนวนมัดจำกลับไป  เป็นมาตรการเบื้องต้น แล้วยังมีมาตรการระดับประเทศในระยะยาวที่น่าสนใจ  ชาวสวีเดนได้รับการปลูกฝังให้คัดแยกขยะออกเป็นประเภททำให้ง่ายต่อการนำขยะไปแปรรูป  ปัจจุบันสวีเดนกลายเป็นประเทศผู้นำด้านการบริหารจัดการขยะและการผลิตพลังงานจากขยะ (Waste-to-Energy) ในระดับนานาชาติสวีเดนมีขยะที่ต้องนำไปกลบฝังเพียง 0.08 % ของปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศและต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นพลังงาน  สวีเดนตั้งเป้าชัดเจนที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ “ของเสียเหลือศูนย์” หรือ Zero Waste ภายในปี 2563  สวีเดนเน้นนำเทคโนโลยีเข้าช่วยจัดการและลงทุนกับการวิจัยในเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะ  สวีเดนยังสามารถสร้างโรงงานผลิตพลังงานจากขยะโดยเทคโนโลยีขั้นสูง และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 2.2 ล้านตันต่อปี

นอกจากนั้นยังมี ประเทศอื่นๆที่มีมาตรการน่าสนใจ เริ่มกันที่  อเมริกา เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เยอรมนี และอีกหลายประเทศใช้ระบบมัดจำ และคืนเงิน เพื่อเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ นำกลับมารีไซเคิล ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้มากที่สุด

ส่วนที่ญี่ปุ่นมีการเก็บภาษีในการใช้ถุงพลาสติกในราคา 5 เยน ต่อหนึ่งใบ คิดเป็นเงินไทยประมาณใบละ 1.50 บาท และมีมาตรการการแยกขยะอย่างเคร่งครัด รวมทั้งพยายามทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด

ที่  แคนาดา มีการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการลด และคัดแยกบรรจุภัณฑ์อย่างถูกต้อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคลดการใช้บรรจุภัณฑ์ฟุ่มเฟือย ซึ่งได้ผลดีมาก

ประเทศสิงคโปร์ สร้างวินัยในการจัดการขยะโดยให้ประชาชนทิ้งขยะเป็นเวลา มีการจัดเก็บขยะหนึ่งครั้งต่อทุก ๆ สองอาทิตย์ และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเดือนละ 150 บาทสำหรับผู้อยู่หอพัก ราคา 400 บาทสำหรับผู้ที่มีบ้านส่วนตัว และโรงงาน บริษัท จะต้องเสียเป็นรายวันโดยคิดเงินตามจำนวนน้ำหนักของขยะ

ยูเครน เป็นประเทศที่ใช้การกำจัดขยะโดยวิธีการฝังกลบ จึงทำให้เกิดโครงการชื่อ LPG ขึ้นมา เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากหลุมฝังกลบ

ความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะในแต่ละ ไม่ใช่เพียงเพราะการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย  หรือ การใช้กฎหมาย  แต่เกิดจากความร่วมมือระหว่างของทุกส่วน ในการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งถ้าเราอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างนั้นได้ เริ่มที่การทิ้งขยะลงถังขยะให้ถูกประเภทก่อนน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี